"วราวุธ" เผยกอม. หนุน "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" จ.อุดรธานี คลุม พื้นที่ 3.6 พันไร่ ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ยันไทยมีศักยภาพอนุรักษ์-คุณค่าแหล่งมรดกโลกทุกแห่ง
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลัง การประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วย อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (กอม.) ครั้งที่ 2/2565 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการขอขึ้นทะเบียน เมืองโบราณศรีเทพ และแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน จากนั้นได้พิจารณาเห็นชอบ เสนอให้ "อุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท" ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก (Nomination Dossier) ซึ่งเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง มีจำนวน 2 พื้นที่ ประกอบด้วยอุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,661 ไร่เศษ ในพื้นที่ อ. บ้านผือ จ.อุดรธานี
ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเสนอรายงาน ตามมติคณะกรรมการมรดกโลก ถึงความก้าวหน้าการอนุรักษ์พื้นที่ กลุ่มป่าแก่งกระจาน รวมทั้งแหล่งอื่น ๆ ด้วย ให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อยืนยันความทุ่มเท และความจริงใจ ของไทยต่อการดำเนินการปกป้อง คุ้มครองแหล่งมรดกโลก ทุกแห่ง ของประเทศไทย ให้คงคุณค่าตามหลักสากล และเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานคนไทย สืบไป
สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีที่มาจากรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนเทือกเขา และภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทยังมีเสาหิน และเพิงหินขนาดใหญ่กระจายตัวอยู่ทั่วไป เพิงหินเหล่านี้เป็นหินทรายของหมวดหินภูพาน มีอายุอยู่ในสมัยครีเทเชียส ราว 130 ล้านปีมาแล้ว ที่ถูกกระบวนการทางธรรมชาติกัดเซาะ (โดยน้ำและลม) มาเป็นเวลาหลายล้านปีจึงทำให้สภาพภูมิประเทศแปรเปลี่ยนเป็นเสาหิน และเพิงหินรูปร่างสวยงามแปลกตาเช่นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2535 กรมศิลปากร ดำเนินการก่อตั้ง "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ขึ้นเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษาในส่วนที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดี และโบราณสถานอีกมากมาย ที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของภูพระบาท โบราณที่น่าสนใจได้แก่ หอนางอุสา ถือเป็นสัญลักษณ์ของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีลักษณะเป็นเพิงหินธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ มีความสูง 10 เมตร รูปร่างคล้ายดอกเห็ด ตั้งอยู่กลางลานหินโล่งกว้างทำให้ดูโดดเด่นกว่าโบราณสถานจุดอื่น ๆ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบทำให้สันนิษฐานได้ว่า หอนางอุสามีอายุเก่าแก่ถึงสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 โดยถูกดัดแปลงเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา อีกด้วย